“ผ้าทอรีไซเคิลผสมเส้นใยใบสับปะรด” จากพลาสติกใช้แล้วในครัวเรือน และขยะจากภาคเกษตรกรรม สู่อัตลักษณ์ใหม่ของเมืองระยอง
ในปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดการขยะกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทุกคนตระหนัก และให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โอกาสนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอนำกรณีตัวอย่าง การจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี โดยใช้เส้นใยรีไซเคิลจากแก้วน้ำพลาสติกใช้แล้ว และเส้นใยจากใบสับปะรด เพื่อผสมผสานถักทอเป็นผืนผ้าเครื่องนุ่งห่ม มาเล่าสู่กันฟัง

แนวคิดนี้มีหัวเรี่ยวหัวแรงคือ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.ปลวกแดง คุณพัทธกานต์ วัฒนสหโยธิน และชาวบ้านในชุมชนปลวกแดง ช่วยกันผลักดันให้ผ้าทอชนิดนี้เกิดขึ้นได้ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาตัวอย่าง ผ้าใยสับปะรดผสมผ้าฝ้ายของประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อหาข้อดี-ข้อเสีย จากการผสมเส้นใยทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว จากนั้นจึงทดลองเปลี่ยนเป็นเส้นใยจากแก้วน้ำพลาสติก ซึ่งเป็นขยะจากครัวเรือนต่างๆ มารีไซเคิลเพื่อใช้ทอร่วมกับเส้นใยจากใบสับปะรด อันเป็นขยะส่วนเกินในภาคเกษตรกรรม จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในชุมชนแห่งนี้

ระหว่างกระบวนการทดลองการทอผ้าจากเส้นใย 2 ชนิดนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าฯ ได้ทำงานร่วมกับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ซึ่งมีโครงการวิจัยเรื่องเส้นใยพลาสติกจากการรีไซเคิล เพื่อดูว่าจะใช้เส้นใยพลาสติก ทอผสมผสานกับเส้นใยสับปะรดในรูปแบบใดได้บ้าง โดยในการทอมือด้วยกี่ทอผ้า พวกเขาได้ทดลองใช้เส้นใยสับปะรดเป็นเส้นยืนในแนวตั้ง และใช้เส้นใยพลาสติกเป็นเส้นพุ่งในแนวนอน จนได้มาซึ่งผ้าทอเส้นใยผสมผสาน อันเป็นอัตลักษณ์ชุมชนปลวกแดง จ.ระยอง

ใบสับปะรดมีข้อดีคือ มีเนื้อเหนียว ดูดซับเหงื่อได้ดี ทนต่อการปั่นด้วยเครื่องซักผ้าและน้ำยาซักผ้า ในส่วนของแก้วพลาสติกประเภท PET และ PP มีคุณสมบัติด้านเส้นใยที่เหนียว น้ำหนักเบา ทนต่อความชื้นและสารเคมี ซึ่งในการทอผ้าเพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อ 1 ตัว จะลดปริมาณขยะจากแก้วพลาสติกได้ถึง 114 ใบ และยังช่วยลดขยะประเภทใบสับปะรดได้อีก 12 ใบ ด้วยกัน

ด้วยการสร้างจิตสำนึกเรื่อง ความรับผิดชอบของคนในท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันจัดการคัดแยกขยะ ทั้งจากภาคเกษตรกรรมและขยะครัวเรือน นอกจากจะช่วยรักษ์โลกแล้ว ยังช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอชนิดใหม่ อันเป็นอัคลักษณ์ของชุมชน อีกทั้งช่วยพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้จากทรัพยากรที่เป็นขยะเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ และนำมาซึ่งความยั่งยืนให้แก่คนท้องถิ่นในระยะยาว

Close Bitnami banner
Bitnami