นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา ได้มีการริเริ่มสกัดสารจากน้ำมันดิน เพื่อใช้ผลิตพลาสติกสังเคราะห์  ที่เรียกว่า Bakelite โดยใช้สารที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมเป็นวัตถุดิบ คือ Petro-based Plastic ซึ่งเกิดจากการนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลเดี่ยว (Monomer) มาทำปฏิกิริยาเพื่อสังเคราะห์ ให้โมโนเมอร์เรียงตัวเป็นสายยาว จนกลายเป็นสารประกอบโพลิเมอร์ (Polymer) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นพลาสติกหลากชนิด และถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

พลาสติกโพลิเมอร์โดยทั่วไป มีคุณสมบัติโดดเด่นหลายประการ ได้แก่ ความแข็งแรง ยืดหยุ่น เบา กันน้ำ ทนความร้อน-เย็น ทนการกัดกร่อนจากกรด-ด่าง และสารเคมี สามารถผลิตได้จำนวนมากในคราวเดียวกัน ด้วยเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีราคาถูก จึงนำไปใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติได้เกือบทั้งหมด และยังสามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายวัตถุประสงค์ พลาสติกจึงถือเป็นวัสดุสำคัญ ที่สร้างความสะดวกให้แก่มนุษย์อย่างมากมาย ให้ได้ใช้สอยโดยไม่มีวัสดุชนิดใดมาเทียบได้

อย่างไรก็ดี ขณะที่ความสะดวกของมวลมนุษย์ได้มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อพลาสติกไม่ได้ถูกนำไปใช้สอยอย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งยังไม่ถูกคัดแยก-กำจัดอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงปลายทาง

ทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา ที่พวกเราพยายามทำอยู่บ่อยครั้งคือ การหันมาใช้ “พลาสติกชีวภาพ” (Bioplastics) เพื่อทดแทนพลาสติกทั่วไป โดยต้นทางของพลาสติกชนิดนี้ คือ วัสดุจากธรรมชาติ หรือวัสดุชีวมวล (Bio-based) อาทิ พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ที่สามารถปลูกหมุนเวียน และทำการปลูกทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น (Renewable Resource) ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้วัสดุชีวมวลดังกล่าว มีคุณสมบัติในทางชีวภาพทั้งแบบย่อยสลายตัวเองได้ และแบบย่อยสลายตัวไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างกันมากกับพลาสติกโพลิเมอร์ ที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป

กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท. เล็งเห็นว่า ปลายทางในการจัดการเพื่อลดขยะพลาสติกให้ได้จริง และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีนั้น ต้องเริ่มจากการใช้พลาสติกให้ถูกประเภทก่อน เช่น ใช้พลาสติกทั่วไปกับสิ่งที่ต้องการความคงทน แข็งแรง หรือทดแทนวัสดุจากธรรมชาติได้ดี ส่วนพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ตามธรรมชาตินั้น ควรใช้ทดแทน Single Use Plastic ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ยาก เช่น ถุงอาหาร เป็นต้น  ส่วนการจัดการหลังการใช้นั้น มีหลายวิธี ตั้งแต่วิธีง่าย ๆ ทำได้เอง เช่น คัดแยก ทิ้งตามจุดที่จะมีผู้รับไปจัดการต่อ หรือวิธีที่ Advance เช่น การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ (Energy Recovery) เป็นต้น ในส่วนของพลาสติกชีวภาพ เช่น แก้วพลาสติกชีวภาพ กล่องอาหาร และถุงพลาสติกชีวภาพ ให้ใช้วิธีหมักร่วมกับขยะอินทรีย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสารปรับปรุงดินที่ช่วยให้ต้นไม้เติบโตงอกงาม หรือเมื่อนำไปฝังกลบจะก่อให้เกิดน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และมวลชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อดินและพืช ในลำดับต่อไป

ที่มา: bio-eco.co.th, themomentum.co และ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท.

#PlasticIndustryClub #ThaiPlasticIndustry #BioPlastic #PolymerPlastic #WasteManagement

Close Bitnami banner
Bitnami