เมื่อต้นปี 2564 คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเห็นชอบในประเด็น การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG (Bio Economy -Circular Economy -Green Economy Model) ให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ สู่เป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน

    โมเดลเศรษฐกิจ BCG นั้น มีมานานพอสมควร แต่ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งให้ BCG เกิดขึ้นจริง ด้วยความตระหนักในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายด้านพลังงานและอาหาร ที่จะมีไม่เพียงพอต่อประชากรโลก เพื่อปรับระบบเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

  BCG Model in Action: วาระแห่งชาติของไทย 4 ยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวาระของโลก ได้แก่ 1) การจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ – การใช้ประโยชน์ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ 2) การใช้จุดแข็ง อัตลักษณ์ และศักยภาพของพื้นที่ ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้สูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก 3) การใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 4) สร้างภูมิคุ้มกัน และความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ ทุนพื้นฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) โดยนำ ยุทธศาสตร์เหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการเน้นที่ อุตสาหกรรมสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 2) อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 3) อุตสาหกรรมพลังงาน และ 4) อุตสาหกรรมวัสดุและเคมีชีวภาพ ซึ่งมีอุตสาหกรรมพลาสติกรวมอยู่ด้วย

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมพลาสติกไทยได้ปรับตัวหลาย ๆ ด้านเพื่อให้เสอดคล้องกับหลัก BCG ซึ่ง กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท. พยายามย่อยให้เห็นภาพอย่างง่าย ๆ อาทิ

Bio-economy : การผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่ผลิตจากพืช เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งนอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำจากวัตถุดิบที่สร้างขึ้นใหม่ได้ แถมย่อยสลายได้ในสภาวะที่เหมาะสม ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบทางการเกษตรของไทยด้วย

Circular Economy: การรณรงค์การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างธุรกิจรีไซเคิล ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังลดปริมาณขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ให้น้อยลงหรือเป็นศูนย์ (Zero Waste)

Green Economy: การดำเนินการตามหลัก Bio Economy และ Circular Economy นั้น ถือเป็นการสนับสนุน Green Economy อีกทางหนึ่ง เพราะ Green Economy คือ เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นให้เกิดความกินดีอยู่ดีของคน และความเท่าเทียมทางสังคม โดยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และทรัพยากรของระบบนิเวศน์เป็นผลลัพธ์ โดยทั่วไปแล้ว เศรษฐกิจสีเขียวเป็นความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แทนการแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว และการดำเนินธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและก่อมลพิษ โดยดำเนินระบบหรือทำการพัฒนาโดยตั้งอยู่บนฐานของการพัฒนาแบบยั่งยืน และคำนึงถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์ และเศรษฐกิจนั่นเอง

ที่มา: sdgmove.com และ กลุ่มอุตสาหดรรมพลาสติก ส.อ.ท.

 

#ThaiPlasticClub #PlasticIndustry #BCG #BioCircular #GreenEconomy

Close Bitnami banner
Bitnami