ปัจจุบัน การจัดการพลาสติกใช้แล้วของไทยโดยรวม ได้รับการขับเคลื่อนจากภาคเอกชนและภาคประชาชนเป็นหลัก จะเห็นว่ามีโครงการรณรงค์ผุดขึ้นมามากมาก และก็เป็นไปอย่างจริงจัง เกิดความร่วมมือในวงกว้างโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แม้ภาครัฐเอง ก็เริ่มตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าว แต่จะดีแค่ไหน หากทุกภาคส่วนพร้อมใจกันบูรณาการ เพื่อเรา เพื่อโลก ดังนี้
1) ในฐานะผู้บริโภค การจัดการขยะพลาสติกแบบง่ายๆ และทำได้เลยคือ การแยกเศษอาหารและขยะอื่น ๆ กับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ล้างทำความสะอาดพลาสติกเหล่านี้ แยกประเภทตามสัญลักษณ์ที่บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้การจัดการขยะพลาสติกง่ายขึ้น ก่อนรวบรวมส่งให้ผู้ที่รับหน้าที่ Reuse Recycle และแปรรูปเพื่อผลิตใหม่ (Upcycle) จะช่วยลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วในระบบให้น้อยลง
2) สร้างระบบที่เอื้อให้ผู้คนเห็นว่า การคัดแยกขยะพลาสติกเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างในประเทศสวีเดน ผู้คนจะมี Mindset ว่าการแยกขยะเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน วัสดุพลาสติกผลิตมาแบบไหน ก็ควรกลับไปจบในรูปแบบเดิม ความคิดที่จะลดการใช้ หรือใช้พลาสติกซ้ำนั้นมาคู่กัน เช่น การคืนขวดพลาสติก แล้วได้เงินค่ามัดจำขวดกลับมา ทำให้การจัดการขยะและแยกขยะพลาสติกเป็นเรื่องปกติ ทั้งประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน จึงทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
3) ภาครัฐคือผู้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ออกนโยบายกำกับดูแล จึงควรผลักดันให้เงินภาษีจากประชาชนถูกใช้ไปกับการจัดการพลาสติกใช้แล้วและขยะอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐอาจใช้กลไกภาษีเป็นแรงจูงใจ ให้บริษัทพลาสติกผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ การลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่ใช้วัสดุพลาสติก ซึ่งนำไปรีไซเคิลและใช้ซ้ำได้ เพราะถือว่าช่วยรัฐลดภาระค่าการจัดการขยะ ส่วนภาคประชาชนก็ให้ใช้กลไกทางภาษีคล้าย ๆ กันนี้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิต และการใช้งานพลาสติกที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสร้างความผิดชอบร่วมกัน กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติก ควรพิจารณาแนวคิด Life Cycle Assessment (LCA) โดยการวิเคราะห์ และประเมินการใช้ทรัพยากรพลาสติก รวมทั้งพลาสติกเหลือใช้ที่หลงเหลืออยู่ในระบบ อันอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การเลือกวัสดุพลาสติกเข้าสู่กระบวนการผลิต การขนส่งและการจัดจำหน่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติก การนำมาใช้ใหม่หรือแปรรูป ไปจนถึงการจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกหลังการใช้งาน
กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค้าพลาสติก ปรับปรุงสินค้าของตนเองตามแนวคิดดังกล่าว ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐในเชิงนโยบาย และส่งเสริมให้ทุกคนใช้งานพลาสติกเพื่อการรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน
ที่มา Greenpeace ประเทศไทย
