วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 นายเกรียงไกร เธีรยรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “มองไปข้างหน้า ด้านนโยบาย SHE & En ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม” ภายใต้หลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร Mini MBA : นวัตกรรมยั่งยืน ในการจัดการความปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (SHE & En) รุ่นที่ 2 จัดโดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ โดยมีผู้บริหารทุกระดับของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเข้าร่วมงานดังกล่าว ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ราชเทวี กรุงเทพฯ
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างให้ธุรกิจเติบโต และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้นั้น คงหนีไม่พ้นปัจจัยด้านการพัฒนาบุคลากร หรือแรงงาน ที่ต้องมีการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งนี้ นักบริหารทุกระดับจำเป็นต้องพัฒนาสมรรถนะ ให้พร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายดังกล่าวอย่างรอบด้าน เพื่อหลอมรวมองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจให้เข้ากับกระแส รวมถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และพลังงานควบคู่กันไป
ทั้งนี้ รศ.ดร.คณิตฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน หรือความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมด้านสุขภาพของพนักงาน และเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานภายในองค์กร ตามมุมมองของกระแสโลกที่ว่า “Good health and Well being” โดยผู้บริหารเป็นผู้กำหนดนโยบาย เพื่อแสดงจุดยืนด้านความปลอดภัยขององค์กร และมีการฝึกอบรมให้กับพนักงาน ทราบถึงกฎระเบียบ และกฎหมายตามมาตราต่างๆ ที่ลูกจ้างควรต้องรู้ และต้องปฏิบัติตาม
นอกจากการให้ความสำคัญในเรื่องอาชีวอนามัย และความปลอดภัยของแรงงานแล้ว สิ่งที่ผู้บริหารต้องคำนึงถึง คือ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานนี้ เปรียบเสมือนสิ่งที่ต้องผนวกเป็นเงาตามกัน เนื่องจากนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero emissions เป็นนโยบายที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และมีผลกับการค้า และการส่งออกสินค้าต่างๆ ระหว่างประเทศมากขึ้น
สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะแกนกลางในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของไทย จึงได้มีการวางนโยบายเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้แผนการดำเนินงานทั้ง 10 Pillars อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต S Curve / Smart City, การส่งเสริม Industry Transformation / Industry 4.0, การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม / ความปลอดภัย และ Made in Thailand รวมถึง BCG Model และ Climate Change เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ความเป็นเลิศ ครอบคลุม และก้าวไปได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็งต่อไป