นาทีนี้ ไม่มีใครไม่รู้ขวด PET เพราะเป็นพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สังเกตง่าย ด้วยรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากพลาสติกอื่น ๆ อย่างชัดเจน กล่าวคือ ใส และมีคุณสมบัติเหนียว ทนแรงกระแทกได้ดี ไม่เปราะหรือแตกง่าย จึงนิยมนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มและเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ มากไปกว่านั้น ยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้แบบ 100% กลายเป็นเม็ด rPET หรือหากไม่รีไซเคิล ก็ยังนำไปอัพไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ทั้งเสื้อผ้า ชุดกีฬา รองเท้า กระเป๋าแบบต่าง ๆ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย
และเมื่อ rPET (Recycle Polyethylene Terephthalate) มีประโยชน์ขนาดนี้ ทุกภาคส่วนจึงผลักดันให้ rPET กลับมาใช้งานได้หลากหลายขึ้น โดยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 235) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก โดยระบุว่า ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ หมายความว่า ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ (Recycled Plastic) จาก 3 กระบวนการ คือ
1. การแปรใช้ใหม่แบบปฐมภูมิ (Primary Recycling: Pre-Consumer Scrap) หมายถึง การแปรรูปชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติก (Scrap) ภายในโรงงาน ซึ่งเหลือจากกระบวนการผลิตภาชนะบรรจุอาหาร เพื่อนำมาหมุนเวียนกลับมาผลิตใหม่ โดยชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติกดังกล่าว ต้องไม่เคยใช้สัมผัสอาหารมาก่อน
2. การแปรใช้ใหม่แบบทุติยภูมิ (Secondary Recycling: Physical Reprocessing: Mechanical Recycling) หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วด้วยวิธีทางกายภาพ รวมทั้งวิธีทางกล เช่น การนำพลาสติกมาบด ล้าง และอาจใช้สารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพแล้วหลอมอัดเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อใช้ทำเป็นภาชนะบรรจุ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องไม่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของพอลิเมอร์เปลี่ยนแปลง
โดยพลาสติกรีไซเคิลตามกระบวนทุติยภูมินั้น จะต้องเป็นชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate; PET) ที่มีคุณภาพหรือมาตรฐานระดับการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) และต้องส่งมอบรายงานผลการประเมินความปลอดภัยจากหน่วยประเมินความปลอดภัยตามที่สำนักงาน อย. กำหนด หรือทำขึ้นจากเม็ดพลาสติกแปรใช้ใหม่ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
3. การแปรใช้ใหม่แบบตติยภูมิ (Tertiary Recycling: Chemical Reprocessing) หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วให้กลับไปอยู่ในรูปของวัสดุตั้งต้น โดยใช้กระบวนการทางเคมี
อย่างไรก็ตาม เพื่อสะอาดและความปลอดภัย ประกาศกระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้นำพลาสติกที่เคยใช้บรรจุหรือหุ้มห่อปุ๋ย วัตถุมีพิษ หรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหาร
นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมพลาสติกไทยที่สามารถผลักดันให้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ได้รับการประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท. เชื่อว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกที่ทันสมัย บวกกับการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยลดปัญหาปริมาณพลาสติกใช้แล้วและเพิ่มปริมาณการนำกลับเข้าสู่ระบบการผลิตอีกครั้ง ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านความยั่งยืนที่ผู้คนกำลังรณรงค์กันอยู่ทั่วโลก
ที่มา: เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
#ThaiPlasticClub #PlasticIndustry #CircularEconomy #rPET #VirginPlastic
