การศึกษาสภาวะการได้รับปริมาณพลังงานและสารอาหารของเด็กไทยอายุ 1-6 ปี
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทสำคัญ ในการผลิตอาหารที่นอกจากจะต้องปลอดภัยและมีคุณภาพแล้ว ยังต้องมีโภชนาการที่ดีเพื่อสุขภาวะของ ผู้บริโภคอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเพื่อพัฒนาการที่สมวัย คุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่เด็กในช่วงวัยนี้บริโภคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ส่งมอบอาหารให้เด็กในช่วงวัยนี้ จำเป็นต้องทราบข้อมูลการได้รับสารอาหารจากการบริโภคที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาวะการบริโภคของเด็กในช่วงวัยนี้และทำให้มั่นใจว่าเด็กในช่วงวัยดังกล่าวได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จึงได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวิเคราะห์ปริมาณพลังงานและสารอาหารจากการบริโภคอาหารในเด็กไทย อายุ 1-3 ปี และอายุ 4-6 ปี1 โดยใช้ข้อมูลการบริโภคย้อนหลัง 24 ชั่วโมง (24–hour dietary recall) จากโครงการศึกษา ข้อมูลการบริโภคอาหารของประเทศไทย ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2557-2558) เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าประมาณของความต้องการสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน (Estimated Average Requirement: EAR) ซึ่งเป็นค่าต่ำสุดของสารอาหารที่ได้รับต่อเนื่องเพียงพอที่จะท าให้คนประมาณร้อยละ 50 ในกลุ่มอายุเดียวกันมีภาวะโภชนาการปกติและสุขภาพดี
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการได้รับพลังงานและสารอาหาร พบว่าค่าเฉลี่ยของพลังงานต่อวัน ในเด็กเล็กกลุ่มอายุ 1-3 ปีเท่ากับ 1,094.65 กิโลแคลอรีและในเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปี เท่ากับ 1,250.30 กิโลแคลอรี และมีค่าเฉลี่ยร้อยละของการกระจายพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต (51.32-52.36) โปรตีน (15.37-15.53) และไขมัน (33.31 และ 32.10) อยู่ในช่วงที่เหมาะสม โดยไม่พบปัญหาการบริโภคโปรตีนไม่เพียงพอในประชากรเด็ก ทั้งสองกลุ่มอายุและที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเด็กกลุ่มอายุ4-6 ปี มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารรองไม่เพียงพอหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี เหล็ก วิตามิน A และวิตามิน C สูงกว่ากลุ่มเด็กเล็กอายุ 1-3 ปีดังข้อมูลในตาราง

ผู้ดำเนินโครงการจึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมว่ากลุ่มอาหารที่เด็กทั้งสองกลุ่มอายุบริโภคเป็นชนิดใดบ้าง มีความหลากหลายของอาหาร (Dietary diversity) ที่เด็กบริโภคมากน้อยเพียงใด เพราะการบริโภคอาหารที่หลากหลายนั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอ ตามข้อปฏิบัติการให้อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กเล็ก (อายุ 1-5 ปี) โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อต่อวัน ให้อาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายเป็นประจำทุกวัน และให้นมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี เสริมนมสดรสจืดวันละ 2-3 แก้ว ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลการได้รับพลังงานและสารอาหารดังกล่าวอาจเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ายังมีเด็กไทยบางส่วนที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวอย่างครบถ้วนทุกวัน จากการศึกษาการบริโภคอาหารกลุ่มต่าง ๆ และคะแนนความหลากหลายของการบริโภคอาหารจากข้อมูลการบริโภคย้อนหลัง 24 ชั่วโมง ในเด็กไทยอายุ 1 ถึง 6 ปี โดยภาพรวมแล้วพบว่าส่วนใหญ่เด็กกลุ่มอายุ1-3 ปี และ 4-6 ปี บริโภคอาหารอย่างน้อย 5 กลุ่ม ทั้งจากการแบ่งกลุ่มอาหาร(Food Group) ตาม HDDS (Household Dietary Diversity Score) ซึ่งเป็นการวัดเชิงคุณภาพของการบริโภคอาหารที่สะท้อนถึงการเข้าถึงอาหารที่หลากหลายของครัวเรือน และ IDDS(Individual Dietary Diversity Score) ที่สะท้อนความเพียงพอของการได้รับสารอาหารจากการบริโภคของแต่ละบุคคลอย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มอาหารที่เป็นนมและผลิตภัณฑ์นม พบว่าร้อยละ 91.9 ของเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี บริโภคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมากที่สุด คือนมผงที่มีการเสริมสารอาหาร (fortified milk powder) โดยบริโภคในร้อยละ 41.5 ตามด้วยนมพร้อมดื่มรสจืดซึ่งส่วนใหญ่เป็นนมโคสดทั้งชนิดเสริมและไม่เสริมสารอาหาร ที่มีการบริโภคในร้อยละ 39.2
การศึกษานี้ทำให้ทราบว่าเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี ได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยที่แหล่งของพลังงานและสารอาหารคือผลิตภัณฑ์นมผงและนมพร้อมดื่มรสจืด ที่มีการเสริมสารอาหาร (Young Child Formula) ในขณะที่เด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปีซึ่งได้รับพลังงานและสารอาหารจากการบริโภคนมพร้อมดื่มรสจืด ทั้งชนิดเสริมและไม่เสริมสารอาหารเพียงอย่างเดียว มีปัญหาการได้รับสารอาหาร ไม่เพียงพอ ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า ผลิตภัณฑ์นมผงและนมพร้อมดื่มรสจืดที่เสริมสารอาหารมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มความต้องการด้านโภชนาการของเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปีเพื่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัย
ส่วนในเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปีบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมน้อยกว่าคือ เพียงร้อยละ 70.2 โดยผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมากที่สุดคือนมพร้อมดื่มรสจืดซึ่งส่วนใหญ่เป็นนมโคสดทั้งชนิดเสริมและไม่เสริมสารอาหาร ที่มีการบริโภคในร้อยละ 45.5 ขณะที่บริโภคนมผงที่มีการเสริมสารอาหาร (fortified milk powder) เพียงร้อยละ 2.7 และเมื่อพิจารณาข้อมูลร้อยละของการกระจายสารอาหาร (percent nutrient contribution) จากค่าปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน พบว่าปริมาณสูงสุดของพลังงาน โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ ที่ได้รับในเด็กเล็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี มาจากนมผง ส่วนในเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปี มาจากนมพร้อมดื่มรสจืด
เอกสารอ้างอิง:
1. “รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการความร่วมมือในการวิเคราะห์สภาวะการได้รับพลังงานและสารอาหารสำคัญจากการบริโภคอาหารใน 1 วัน ของเด็กอายุ 1- 6 ปี” โดย นวรัตน์ ว่องไวเมธี และคณะ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พฤศจิกายน 2565.
2. คู่มือแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการในคลินิกสุขภาพเด็กดีสำหรับบุคลากรสาธารณสุข โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2558 (https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/book/194071)
โหลดไฟล์ PDF