วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2566  นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเสวนาในงาน The Future of Aviation Industry ณ ห้อง Auditorium 1 อาคาร 11 ชั้น 14 มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดโดย วิทยาลัยการบินและคมนาคม มหาวิทยาลัยศรีปทุม

การเสวนาดังกล่าว มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแสวนา ดังนี้ พลอากาศเอก พิธพร กลิ่นเฟื่อง (คณบดีวิทยาลัยการบินและคมนาคม), ดร.จุฬา สุขมานพ (เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก), นายชาย เอี่ยมศิริ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)), นายหลุยส์ มอเซอร์ (ที่ปรึกษา NAA : Narita International Airport Corporation Company ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก) และ นายวรพจน์ ยศะทัตต์ (Advisor Aviation Consultancy Group และ Chairman Indra Sistemas S.A (Thailand) รวมถึงได้รับเกียรติจาก ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน (อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม) ร่วมกล่าวเปิดงาน

โดยประธาน ส.อ.ท. ได้นำเสนอถึงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการบินจากอดีตสู่ปัจจุบัน และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบินของไทย ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ประเทศไทยต้องหันกลับมามองในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม และธุรกิจการบินภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมการบินนั้น ยังอยู่ใน 7 อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve ที่ไทยต้องเร่งพัฒนา และยกระดับมูลค่า เพื่อให้สอดรับกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในอนาคต นำไปสู่การแข่งขันกับประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของไทยในการลงทุนในอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงฯ MRO (Maintenance, Repair and Overhual) ช่วยให้เกิดการสร้างแรงงานที่มีทักษะสูงในการซ่อมบำรุงเครื่องบิน อีก 2,500-3,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนซ่อมบำรุงอากาศยานฯ ในอนาคต

การสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรรมการบิน ไม่ใช่เพียงเฉพาะเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์เท่านั้น แต่ปัจจุบันยังมี “โดรน” ที่เข้ามาช่วยให้การดำเนินงานหลายๆ ด้าน เพื่อให้เกิดความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ เช่น การเกษตร การทหาร  การขนส่ง หรือการสำรวจในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เป็นต้น ซึ่งช่วยในเรื่องความปลอดภัยของบุคลากร รวมถึงต้นทุนการผลิตอีกด้วย รวมถึง ไทยยังพัฒนาไปถึงธุรกิจผลิตสีทาเครื่องบิน และบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ให้บริการบนเครื่องบินให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

และจากนโยบายที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ คือ การลดวิกฤตโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหันมาใช้พลังงานสีเขียว ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำแทน ในสภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีนโยบายในการศึกษา และพัฒนาให้มีการรับรองวัตถุดิบชีวภาพเพื่อใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของอุตสาหกรรมการบิน (SAF : Sustainable Aviation Fuel)  ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการบิน และมีแผนที่จะจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบินให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ในการเสวนา ยังกล่าวถึงประเด็นที่ธุรกิจการบิน และการแข่งขันที่จะเป็น Airline Hub หรือ Hub Airport ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป อีกทั้งกฎระเบียบต่างๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบอย่างสากลที่ได้รับการยอมรับ และการส่งเสริมให้พื้นที่ EEC และพื้นที่โดยรอบ เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทย ให้เกิดความสะดวก และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น

#สายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม

#สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

#ONEFTI

Close Bitnami banner
Bitnami