คุณอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. ได้มีการร่วมประชุมหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โดยมี คุณดอน ทยาทาน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า พร้อมคณะกรรมการกลุ่มฯ เข้าร่วมประชุม โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนค่าก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ที่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าประเภท SPP ทำให้ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักที่ผ่านมา

          ล่าสุดในการประชุมกกพ. ครั้งที่ 45/2566 วันที่ 5 ตุลาคม 2566 กกพ. มีมติเห็นชอบค่า Ft เรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ตามที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยตามมติครม.

          ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าว ทางปตท.จะต้องปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียูตามข่าวจากศูนย์ข่าวพลังงานเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566

ในการนี้ SPP จึงขอความกรุณาจากสอท. เพื่อโปรดพิจารณาให้การช่วยเหลือ SPP โดยเร่งด่วนใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. ขอให้ปตท. ใช้ค่าก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าให้เป็นแบบอัตราเดียวกันทุกกลุ่ม กล่าวคือทั้ง EGAT IPP และ SPP

2. ขอให้ปตท. ปรับปรุงสูตรราคาก๊าซธรรมชาติใหม่จากเดิมคิดอัตราค่าตอบแทนในการจัดหาและจัดจำหน่าย (S) สำหรับEGAT และ IPP ที่ 1.75 % ของราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซฯ ในขณะที่คิดค่า S สำหรับ SPP ที่ 9.33 % ของราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซฯ ให้เปลี่ยนเป็นคิดค่า S ที่เป็นอัตราเดียวกันสำหรับกิจการไฟฟ้าทุกกลุ่มทั้ง EGAT IPP และ SPP ทั้งนี้เพราะว่าค่า S ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ค่าตอบแทนในการดำเนินการ ค่าความเสี่ยงในการรับประกันคุณภาพก๊าซธรรมชาติ และการส่งก๊าซธรรมชาติให้ได้ตามปริมาณที่กำหนดภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาตินั้น ไม่มีเหตุผลอย่างชัดเจนใดๆรองรับที่จะต้องคิดค่า S ให้ต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่ม

3. เนื่องจากกิจการพลังงานมีความสำคัญต่อโครงสร้างด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ จึงต้องมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้น ซึ่ง SPP ได้ประกอบกิจการสร้างความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดีมาตลอดกว่า 20 ปีและควรต้องดำเนินกิจการต่อไปเพื่อการพัฒนาประเทศจะได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนโยบายและแนวทางของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าโดยกกพ. ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนตามมาตรา 65 (1) เพื่อให้ SPP อยู่รอดและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ส่วนในระยะยาวนั้นขอให้สอท. ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ราคา Pool Gas ถูกลง

Next Step : กลุ่มฯ ผู้ผลิตไฟฟ้า ดำเนินการจัดทำข้อมูลรายชื่อบริษัทที่ได้รับผลกระทบ และมูลค่าความเสียหายที่ได้รับผลกระทบ มายังสายงาน สส. เพื่อนำเข้าเสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน ต่อไป

Close Bitnami banner
Bitnami