เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ผู้แทนกลุ่มฯ สิ่งทอ ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มฯ สิ่งทอ, นายสุพจน์ ชัยวิไล กรรมการกลุ่มฯ สิ่งทอ ร่วมกับ นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานคณะทำงาน Supply Chain Security และความมั่นคงทางด้าน Supply Chain และกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือแนวทางการจัดการปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ร่วมกับนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ณ ห้องรับรอง 230 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วมหารือ อาทิ นายสุรเดช บุญยวัฒน ประธานกลุ่มฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, , นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มฯ เหล็ก และนายนวพงศ์ สรโชติ กรรมการกลุ่มฯ ยาง

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แจ้งว่า สมอ. มี 8 มาตรการเชิงรุกภายใต้ภารกิจ Quick win เพื่อจัดการสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ประกอบด้วย
1.มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่าง ๆ และนำข้อมูลที่ได้มาขยายผล เพื่อให้รู้ถึงพิกัดโกดังเก็บสินค้า พิกัดการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ และให้ทราบถึงแหล่งที่มา ทั้งโรงงานที่ผลิตและช่องทางการนำเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างสูงสุด
2. มาตรการจับจริง-ปรับจริง หากพบสินค้าไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. สมอ. จะออกหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้มาให้ข้อมูลร้านค้าและรายละเอียดของสินค้า หากพบว่ามีความผิดจริงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล โดยการชี้แจงให้ทุกแฟลตฟอร์มทราบมาตรการในการดำเนินคดีกับสินค้าที่มีการโฆษณาโดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. และให้ทุกแพลตฟอร์มจัดทำระบบที่บังคับให้ผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดง (QR Code ข้อมูลใบอนุญาต และภาพในการโฆษณาต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. ด้วย)
4. มาตรการให้ความรู้ สมอ. จะเชิญร้านค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์ม หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการโฆษณา การจำหน่าย และการสักลอบขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และให้ทราบถึงการกระทำความผิดฐานเป็นผู้ให้พื้นที่ในการโฆษณาและเป็นผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าดังกล่าว
5. มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืนโดย สมอ. จะขยายผลให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการหรือผู้เกี่ยวข้องที่แจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้า
6. มาตรการสร้างความตระหนัก โดยขอความร่วมมือแพลตฟอร์มให้แสดงอินโฟกราฟิกแจ้งเตือนผู้บริโภคให้รู้ วิธีการสังเกตสินค้าที่มีมาตรฐานทุกครั้งที่มีการค้นหา Keyword เช่น คำว่า “ปลั๊กพ่วง” “พาวเวอร์แบงก์” หรือ “หลอดไฟ” ฯลฯ
7. มาตรการใกล้ชิดประชาชน สมอ. จะทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน
8. มาตรการเพิ่มอาวุธมีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษาข้อกฎหมาย ข้อจำกัด และแนวทางการแก้ปัญหาในการลงโทษร้านค้าออนไลน์ที่กระทำความผิด รวมทั้งผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าด้วย ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ภารกิจ “Quick Win” เพื่อกวาดล้างสินค้าต้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน

นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ นำเสนอแนวทางความร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 3 แนวทาง ดังนี้
1.จัดตั้งวอร์รูม (War Room) ตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ระหว่าง ส.อ.ท. และ สมอ.
2.ทบทวนแนวทางด้านการมาตรฐานเพื่อปกป้องสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานบังคับ
3.อำนวยความสะดวกให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ใช้กลไก SDO ในการร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

นายวันชัย พนมชัย ได้สนับสนุนแนวทางความร่วมมือเพื่อตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีนโยบายในการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้มีจำนวนมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณสินค้าในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสามารถใช้ประโยชน์จากกลไก SDO ในการจัดทำมาตรฐาน เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป

Close Bitnami banner
Bitnami