เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานคณะทำงาน Supply Chain Security และความมั่นคงทางด้าน Supply Chain และกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือแนวทางการจัดการปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ร่วมกับนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ณ ห้องรับรอง 230 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วมหารือ อาทิ นายสุรเดช บุญยวัฒน ประธานกลุ่มฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มฯ สิ่งทอ, นายสุพจน์ ชัยวิไล กรรมการกลุ่มฯ สิ่งทอ, นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มฯ เหล็ก และนายนวพงศ์ สรโชติ กรรมการกลุ่มฯ ยาง
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แจ้งว่า สมอ. มี 8 มาตรการเชิงรุกภายใต้ภารกิจ Quick win เพื่อจัดการสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ประกอบด้วย
1.มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่าง ๆ และนำข้อมูลที่ได้มาขยายผล เพื่อให้รู้ถึงพิกัดโกดังเก็บสินค้า พิกัดการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ และให้ทราบถึงแหล่งที่มา ทั้งโรงงานที่ผลิตและช่องทางการนำเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างสูงสุด
2. มาตรการจับจริง-ปรับจริง หากพบสินค้าไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. สมอ. จะออกหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้มาให้ข้อมูลร้านค้าและรายละเอียดของสินค้า หากพบว่ามีความผิดจริงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล โดยการชี้แจงให้ทุกแฟลตฟอร์มทราบมาตรการในการดำเนินคดีกับสินค้าที่มีการโฆษณาโดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. และให้ทุกแพลตฟอร์มจัดทำระบบที่บังคับให้ผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดง (QR Code ข้อมูลใบอนุญาต และภาพในการโฆษณาต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. ด้วย)
4. มาตรการให้ความรู้ สมอ. จะเชิญร้านค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์ม หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการโฆษณา การจำหน่าย และการสักลอบขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และให้ทราบถึงการกระทำความผิดฐานเป็นผู้ให้พื้นที่ในการโฆษณาและเป็นผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าดังกล่าว
5. มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืนโดย สมอ. จะขยายผลให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการหรือผู้เกี่ยวข้องที่แจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้า
6. มาตรการสร้างความตระหนัก โดยขอความร่วมมือแพลตฟอร์มให้แสดงอินโฟกราฟิกแจ้งเตือนผู้บริโภคให้รู้ วิธีการสังเกตสินค้าที่มีมาตรฐานทุกครั้งที่มีการค้นหา Keyword เช่น คำว่า “ปลั๊กพ่วง” “พาวเวอร์แบงก์” หรือ “หลอดไฟ” ฯลฯ
7. มาตรการใกล้ชิดประชาชน สมอ. จะทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน
8. มาตรการเพิ่มอาวุธมีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษาข้อกฎหมาย ข้อจำกัด และแนวทางการแก้ปัญหาในการลงโทษร้านค้าออนไลน์ที่กระทำความผิด รวมทั้งผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าด้วย ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ภารกิจ “Quick Win” เพื่อกวาดล้างสินค้าต้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน
นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ นำเสนอแนวทางความร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 3 แนวทาง ดังนี้
1.จัดตั้งวอร์รูม (War Room) ตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ระหว่าง ส.อ.ท. และ สมอ.
2.ทบทวนแนวทางด้านการมาตรฐานเพื่อปกป้องสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานบังคับ
3.อำนวยความสะดวกให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ใช้กลไก SDO ในการร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
นายวันชัย พนมชัย ได้สนับสนุนแนวทางความร่วมมือเพื่อตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีนโยบายในการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้มีจำนวนมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณสินค้าในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสามารถใช้ประโยชน์จากกลไก SDO ในการจัดทำมาตรฐาน เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป